logo

การคำนวณ EMA ใน EXCEL สำหรับ เทรดเดอร์ สาย Indicator

อินดิเคเตอร์ EMA ถูกจัดเป็นประเภทหนึ่งของ WMA แต่แตกต่างกันตรงที่ EMA ไม่เคยทิ้งน้ำหนักของข้อมูลในอดีต โดยที่มีการกำหนดน้ำหนักข้อมูลเก่าโดยใช้ค่า Multiplier  โดยน้ำหนักของข้อมูลในอดีตจะถูกลดลงแบบเอ็กโพแนนเชียล


EMA เป็นอีกหนึ่ง Indicator ทางเทคนิคที่ เทรดเดอร์ นิยมใช้ในการเทรดมากที่สุด เพื่อการพยากรณ์ราคาประกอบการตัดสินใจซื้อและขาย โดยก่อนที่จะคำนวณได้ เราจะต้องทำการคำนวณ “ตัวคูณ หรือ Multiplier” เสียก่อน

การคำนวณ EMA แบบคิดในกระดาษ

เช่นเดียวกันกับ WMA ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบเอ็กซ์โพเนนเชียล จะให้น้ำหนักกับข้อมูลล่าสุดมากกว่าข้อมูลที่ห่างออกไปในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่ล้าหลังมากจะถูกกำหนดให้มีน้ำหนักที่น้อยลง

สูตรคำนวณ

EMA= [{Pn – EMAn-1} x ตัวคูณ] + EMAn-1

หรือสามารถจัดรูปใหม่ได้เป็น

EMA = [Pn x ตัวคูณ]   +  [EMAn-1 (1 – ตัวคูณ)]

โดยที่

EMAn คือ ค่า Exponential Moving Average ของช่วงเวลาที่ต้องการ

Pคือ ราคาปิด ณ ช่วงเวลาที่ต้องการ

EMAn-1 คือ ค่า Exponential Moving Average ของเวลาก่อนหน้า 1 period

ตัวคูณ คือ ค่าที่คำนวณจาก 2/(n+1)

n คือ ช่วงเวลาที่ใช้มาคำนวณ

ขั้นตอนการคำนวณ ตัวอย่างการคำนวณ EMA(5)

การคำนวณ EMA นั้นทำได้ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก แต่อาจจะมีขั้นตอนมากกว่า SMA สักหน่อย แต่สรุปได้สั้น ๆ ว่ามี 3 ขั้นตอนดังต่อไปนี้

คำนวณ SMA

การคำนวณ EMAn-1ข้อมูลแรก อาจจะต้องคำนวณข้อมูลดังกล่าวมาจาก SMA ซึ่งเป็นการหาค่าเฉลี่ยเลขคณิตตามปกติของราคาปิดในช่วงเวลาที่สนใจ โดยนำผลรวมของราคาปิดมาหารด้วยจำนวน period

                EMA n-1= SMAn-1=  ผลรวมของราคาปิดในช่วงที่สนใจ/ n

ตัวอย่างข้อมูล พิจารณาราคาหุ้นตัวหนึ่ง พบว่ามีราคาปิดที่ 1, 2 , 3, 4,5 และ 6 ตามลำดับ จงคำนวณหา EMA(5)

EMA n-1 = SMAn-1 =  ผลรวมของราคาปิดในช่วงที่สนใจ/ n = (1+2+3+4+5)/5 = 3

คำนวณค่าตัวคูณ

การคำนวณค่าของตัวคูณ สามารถเขียนในรูปสูตรทั่วไปดังนี้

ตัวคูณ =  Smoothing Factor/(n+1)

ในกรณีทั่วไป Smoothing Factor = 2 เนื่องจากเป็นค่าที่ให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับ SMA ดังนั้นจึงสามารถแทนค่าสูตรตัวคูณได้เป็น

ตัวคูณ =  2/(n+1)

ถ้าต้องการคำนวณ EMA(5) ดังนั้น n=5 ค่าของตัวคูณจะมีค่าเท่ากับ 2/(5+1) = 0.3333 นั้นคือมีการให้น้ำหนักข้อมูลปัจจุบัน 33.33% และมีการให้น้ำหนักกับข้อมูลในอดีต 66.67%

ทำการคำนวณ EMA

การคำนวณ EMAn ทำได้โดยการนำค่าต่าง ๆ ไปแทนลงในสูตรในสมการคำนวณ EMA โดยสามารถแทนค่าลงในสูตรใดก็ได้ จะได้ผลลัพธ์เท่ากัน ในที่นี้จะยกตัวอย่างการโดยการแทนลงในสูตร

EMAn = [Pn x ตัวคูณ]   +  [EMAn-1 (1 – ตัวคูณ)]

ดังนั้น จาก ตัวอย่างข้อมูล พิจารณาราคาหุ้นตัวหนึ่ง พบว่ามีราคาปิดที่ 1, 2 , 3, 4,5 และ 6 ตามลำดับ จงคำนวณหา EMA(5)

จะได้ว่า Pn = 6, ตัวคูณ = 0.3333, EMAn-1 = SMAn-1= 3

ผลลัพธ์ที่ได้คือ EMAn = [6 x 0.3333]   +  [3 (1 – 0.3333)]

= 2 + 2 = 4

โดยสรุปจากคำนวณในกระดาษจะพบว่า EMA(5) จากข้อมูลจะมีค่าเท่ากับ 4


การคำนวณ EMA ผ่าน EXCEL

จะเห็นได้ว่าการคำนวณ EMA นั้นมีการใช้งานฟังก์ชันพื้นฐานเท่านั้น ทำให้เราสามารถใช้ EXCEL เพื่อช่วยคำนวณค่า EMA ได้ง่าย ๆ สำหรับตัวอย่างการคำนวณต่อไปนี้จะใช้ข้อมูลการคำนวณ และ ขั้นตอนการคำนวณ เช่นเดียวกันกับการคิดในกระดาษ

คำนวณ SMA โดยใช้ฟังก์ชัน AVERAGE

ฟังก์ชัน AVERAGE เป็นฟังก์ชันสำเร็จรูปที่ช่วยทำให้การหาค่าเฉลี่ยเลขคณิตสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเราจะทำการใช้ฟังก์ชันนี้เพื่อช่วยในการคำนวณค่า SMA(5) โดยมีการใส่สูตรดังรูป

ตัวอย่าง การคำนวณ SMA(5) ผ่าน EXCEL โดยใช้ฟังก์ชัน average()

คำนวณค่าตัวคูณ

ทำการเลือก Cell ว่าง ๆ เพื่อคำนวณค่าตัวคูณ เพื่อเก็บไว้สำหรับการคำนวณ EMA ในขั้นตอนถัดไป โดยใส่สูตรเป็น 2/(n+1) ในที่นี้จะทำการระบุค่า period หรือค่า n ไว้ในอีก cell หนึ่งเพื่อให้ง่ายต่อการปรับเปลี่ยนในภายหลัง ค่า n ในกรณีนี้เท่ากับ 5

ตัวอย่าง การคำนวณ Multiplier ของ EMA(5)

ทำการคำนวณ EMA

ในที่นี้จะทำการผูกสูตรเพื่อคำนวณค่า EMA โดยใช้สมการ โดยจะใช้เครื่องหมาย $..$ เพื่อเป็นการล็อคตำแหน่งของค่า Multiplier เพื่อไม่ให้เลื่อนเวลาลากสูตร

EMAn = [Pn x ตัวคูณ]   +  [EMAn-1 (1 – ตัวคูณ)]

ตัวอย่าง การแทนค่าสูตรใน EXCEL เพื่อคำนวณ EMA(5)

เมื่อผูกสูตรเสร็จเรียบร้อยแล้วทำการลากสูตรลงมา เราก็จะได้ค่า EMA(5) ของข้อมูลใน period ถัดไปตามลำดับ

ตัวอย่าง ผลลัพธ์จากากรคำนวณ EMA(5) ผ่าน EXCEL

ดาวโหลดไฟล์ EXCEL

 

สรุป

การคำนวณ EMA มีความคล้ายคลึงกับ WMA โดยที่จะให้ความสำคัญกับข้อมูลปัจจุบันมากที่สุด และให้ความสำคัญกับช่วงเวลาในอดีตลดความสำคัญลงมา โดยสามารถปรับความสำคัญของข้อมูลได้โดยใช้ ค่าตัวคูณ หรือ ค่า Multiplier

ความแตกต่างต่างประการหนึ่งของ EMA และ WMA ก็คือ EMA จะใช้ข้อมูลในอดีตทุกตัวมาคำนวณเป็นค่า EMA n-1 โดยที่ไม่สามารถให้น้ำหนักข้อมูลใดข้อมูลหนึ่งเป็นศูนย์ได้ ซึ่งแตกต่างกับ WMA ที่สามารถกำหนดน้ำหนักของข้อมูลในแต่ละจุดได้เองทำให้มีความยืดหยุ่นในการหาค่าที่เหมาะสมมากกว่า

การคำนวณ EMA ผ่าน EXCEL นั้นมีความตรงไปตรงมาโดยเริ่มจาก 1) คำนวณค่า SMA เพื่อแทนลงใน period แรก 2) คำนวณค่าตัวคูณ และ 3) ทำการผูกสูตรใน EXCEL

ค่า EMA ในช่วง Period แรก ๆ ที่คำนวณได้จะมีความเคลื่อนอยู่บ้าง เนื่องจาก การแทนค่า   EMA n-1= SMAn-1 อาจจะไม่สมเหตุสมผลซะทีเดียว ดังนั้นจึงควรตัดข้อมูลของ EMA 4-5 period แรก ที่คำนวณได้ออกไป

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

  1. Investopedia
  2. SCIENCING
  3. Investopedia(2)
  4. Lucid trader
  5. Trading View

น้ำมัน บทความยอดนิยม ประวัติเทรดเดอร์ พื้นฐาน technical analysis เทรดเดอร์มือใหม่ ์Indicator

*บทความนี้ไม่มีและไม่ควรถูกตีความว่า มีการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำเสนอสำหรับการทำธุรกรรมใดๆ ในเครื่องมือทางการเงินต่างๆ โปรดทราบว่าการวิเคราะห์การซื้อขายดังกล่าวไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ที่เชื่อถือได้สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันหรืออนาคต เนื่องจากสภาวการณ์อาจมีเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน

Facebook
Twitter
Email

ข่าวสารเพิ่มเติม

วิเคราะห์ทองคำประจำวันที่ 19/06/2024

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร หลังสหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกที่ต่ำกว่าคาดและเป็นปัจจัยหนุนการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย

อ่านเพิ่มเติม